กรมอนามัย เผย คุณภาพน้ำประปาไทยสูงขึ้น พร้อมคุมเข้มการผลิตเพื่อรักษามาตรฐาน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย คุณภาพน้ำประปาช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้สูงขึ้น ย้ำหน่วยผลิตน้ำประปารักษามาตรฐานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้น้ำประปาสะอาดและเพียงพอ แนะ 10 สิ่งควรทำสำหรับประชาชนเพื่ออนุรักษ์น้ำ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” เพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของน้ำ เกิดความตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์น้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน โดยปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญ เรื่อง “เร่งรัดการเปลี่ยนแปลง” เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติน้ำและการสุขาภิบาล เพราะการขาดแคลนน้ำจะส่งผลกระทบต่อทุกคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 100 เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ 6 (SDGs 6) อีกทั้ง น้ำบริโภคในครัวเรือนที่เป็นน้ำประปาจากการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ยังมีคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ถึงร้อยละ 90 สอดคล้องกับผลการสำรวจในปี 2563 ที่พบว่า น้ำประปาในสถานประกอบการจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ มีปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือตั้งแต่ 0.5 ppm. ขึ้นไป ร้อยละ 83.33

“ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในครัวเรือน ได้แก่ น้ำประปา น้ำบรรจุถัง 20 ลิตร น้ำตู้หยอดเหรียญ น้ำฝน น้ำบาดาลและน้ำบ่อตื้น ตลอดระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2556-2565) ยังพบว่า คุณภาพน้ำบริโภคในครัวเรือนผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย เฉลี่ยร้อยละ 38.4 เท่านั้น แต่ช่วงการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 ปี 2562-2565 น้ำประปาจากหน่วยผลิตทุกแหล่ง ได้แก่ กปน. กปภ. อปท. และประปาหมู่บ้าน มีคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 65.7
เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2558-2561 ร้อยละ 46.6 ส่วนหนึ่งมากจากมาตรการในการดูแลคุณภาพน้ำประปาโดยเฉพาะการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคจนมีระดับความเข้มข้นของคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปาตั้งแต่ 0.5 ppm. ขึ้นไป ตามคำแนะนำกรมอนามัยปรับปรุงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งสิ่งที่กรมอนามัยยังต้องเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ภายใต้ 3 C คือ Clear Clean Chlorine เพื่อให้น้ำประปาหมู่บ้านมีคุณภาพเหมาะกับการบริโภค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นายแพทย์สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย เปิดเผยเพิ่มเติมในการเป็นประธานเสวนาวิชาการ เรื่อง เร่ง รัด จัดการสร้างความเชื่อมั่นน้ำประปาดื่มได้ให้โดนใจประชาชน ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า การเสวนาในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อเร่งพัฒนาและคุมเข้มมาตรฐานการผลิตน้ำ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นอกจากนี้ ประชาชน ยังสามารถมีส่วนร่วมในการรักษ์น้ำได้ ภายใต้ 10 สิ่งควรทำเพื่ออนุรักษ์น้ำ คือ 1) ปลูกต้นไม้ ทำสวน 2) ติดตามระบบผลิตน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสียในการจัดการน้ำสะอาดและน้ำเสีย 3) ไม่ทิ้งเศษอาหาร น้ำมัน ยา และสารเคมีลงในส้วมหรือทางระบายน้ำ 4) ร่วมกิจกรรมทำความสะอาดแม่น้ำ ชายหาด ในชุมชนตัวเอง 5) อุดหนุนอาหารท้องถิ่นตามตามฤดูกาลหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้น้ำน้อย 6) กล้าพูดแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานด้านน้ำและสุขาภิบาล 7) ให้บริการหรือแบ่งปันโอกาสใช้น้ำหรือส้วมแก่ผู้คนอย่างเท่าเทียม 8) กดส้วมครั้งเดียวหลังเสร็จกิจ เพื่อประหยัดน้ำ 9) เขียนหรือโพสต์ถึงนักการเมืองเกี่ยวกับงบประมาณในการปรับปรุงคุณภาพน้ำในประเทศและต่างประเทศ 10) ประหยัดน้ำ ไม่อาบน้ำนาน และไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ตอนแปรงฟัน ล้างจาน และทำอาหาร

***

กรมอนามัย / 22 มีนาคม 2566